แนะนำมหาวิทยาลัย: Universiti Utara Malaysia (UUM) มหาวิทยาลัยที่อยู่ห่างจากด่านนอกเพียงสิบกว่ากิโลเมตร

เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.uum.edu.my

เนื่องจากตัวเราเองเคยเป็นศิษย์เก่าที่นี่ ไปเรียนปริญญาตรีตั้งแต่ปี 2007 จบมาจนทุกวันนี้ยังคงมีหลายๆคน ทั้งผู้ปกครองและตัวน้องๆหลายๆคนมาถามว่าบรรยากาศมหาวิทยาลัยเป็นยังไงบ้าง การเรียนการสอนเป็นแบบไหน เราเลยตัดสินใจเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ แต่เนื่องจากว่าตัวเองจบมานานแล้ว เลยพยายามหาข้อมูลที่อัพเดทที่สุดมาเขียนไว้สำหรับผู้ที่สนใจประกอบการตัดสินใจเลยละกันค่ะ

Universiti Utara Malaysia (UUM) ตั้งอยู่ที่ตำบลซินโต๊ะ (Sintok) แห่งรัฐเคดะห์ (Kedah) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ตัวมหาวิทยาลัยอยู่ห่างจากด่านนอกซึ่งเป็นชายแดนไทย-มาเลเซียประมาณ 17 กิโลกว่าๆเท่านั้นเอง UUM จึงเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยตัวเลือกสำหรับคนที่อาศัยอยู่จังหวัดภาคใต้ เพราะอยู่ไม่ไกล มาเทียบกันจริงๆไปเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพยังไกลกว่าอีก(สำหรับคนที่อยู่ภาคใต้ตอนล่าง) ทำให้ผู้ปกครองหลายๆท่านโดยเฉพาะครอบครัวมุสลิมตัดสินใจส่งลูกหลานตัวเองไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ เพราะอยู่ไม่ไกล จะขับรถไปเยี่ยมก็ง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารการกินเพราะมาเลเซียเป็นประเทศมุสลิม อาหารฮาลาลหากินง่ายทั่วบ้านทั่วเมือง และต้องได้ภาษาแน่นอน เพราะระบบการเรียนการสอนจะเป็นสองภาษา คือ ภาษาอังกฤษและภาษามลายู (แล้วแต่ตัวนักศึกษาเลยว่าจะลงทะเบียนเรียนด้วยระบบภาษาอะไร)

คำว่า Utara ในภาษามลายู มีความหมายเหมือนกับคำว่า อุตร หรือ อุดร ซึ่งแปลว่า ทิศเหนือ, ภาคเหนือ นั่นเอง หลายๆคนเลยเรียกเป็นภาษาไทยว่ามหาวิทยาลัยอุตตระ UUM เป็นมหาวิทยาลัยรัฐแห่งที่6ของประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งอย่างเป็นทางการวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1984 ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในขณะนั้นที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเน้นความชำนาญด้านการบริหารการจัดการโดยเฉพาะ ตัวมหาวิทยาลัยมีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,061 เฮคเตอร์

คนที่สนใจอยากรู้ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยโดยละเอียด สามารถเข้าไปดูได้ที่ About UUM นะคะ

UUM กับการรับรองคุณวุฒิของ ..

Universiti Utara Malaysia เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาของประเทศมาเลเซียที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิจาก ก.พ. ค่ะ

โครงสร้างระบบการศึกษา

ระบบการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นระบบ 2 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษและภาษามลายู วิชาเรียนส่วนใหญ่จะเป็นวิชาเรียนภาษาอังกฤษ จะมีบางวิชาที่มีสองภาษา ให้เราเลือกตอนลงทะเบียนเรียนเองเลยว่าเราต้องการเรียนกับอาจารย์คนไหนภาษาอะไร นักศึกษาไทยส่วนใหญ่จะเลือกเลือกเรียนเป็นระบบภาษาอังกฤษ อาจมีนักศึกษาไทยหลายคนที่เข้าใจภาษามลายูได้ถ่องแท้กว่าก็เลยเลือกเรียนเป็นภาษามลายู อันนี้แล้วแต่ความถนัดของเราว่าจะเลือกเรียนในระบบภาษาอะไร

ระบบการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 3 วิทยาลัยหลัก ได้แก่

  1. College of Business (COB) วิทยาลัยด้านธุรกิจ
  2. College of Arts and Sciences (CAS) วิทยาลัยด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
  3. College of Law, Government and International Studies (COLGIS) วิทยาลัยด้านกฎหมาย การปกครอง และการศึกษาระหว่างประเทศ

แต่ละวิทยาลัยหลักจะมีคณะต่างๆภายใต้วิทยาลัยนั้นๆอยู่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ หลักสูตร, ค่าใช้จ่าย, วิธีการสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีที่ UNIVERSITI UTARA MALAYSIA

การลงทะเบียนเรียน

ในสัปดาห์ปฐมนิเทศสำหรับนักศึกษาใหม่ เค้าจะแจกคู่มือให้นักศึกษาทุกคนว่าคณะที่ตัวเองเรียนต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง แต่ละคณะจะมีวิชาไหนวิชาบังคับ วิชาเลือกแตกต่างกันไป เค้าจะมีแนะนำให้แล้วว่าแต่ละปีควรจะต้องลงเรียนวิชาอะไรบ้าง ให้เราจัดตารางเรียนของเราได้เลยว่าเทอมนี้เราจะเรียนวิชาอะไร จะเรียนกี่ตัว เรียนเวลาไหน ก่อนลงทะเบียนต้องเช็คตารางวิชาให้ดีว่าชนกันรึเปล่า และต้องลงทะเบียนให้อยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำด้วยว่ากี่หน่วยกิต สำหรับนักศึกษาปี 1 จะมีรุ่นพี่คอยช่วยเหลือ แนะนำวิธีการลงทะเบียนว่าจะทำยังไงบ้าง

การลงทะเบียนเรียนจะทำโดยวิธีออนไลน์ เค้าจะกำหนดวันไว้เลยว่านักศึกษาปีไหนลงทะเบียนเรียนภายในวันไหน เริ่มจากปี 4 ได้ลงทะเบียนก่อน ตามมาด้วยปี 3-2-1 เรียงกันไป อันนี้แหละยิ่งกว่าสงคราม นักศึกษาแต่ละคนพยายามไปที่ๆคิดว่าอินเตอร์เน็ตแรงสุด ไปรอกันก่อนเที่ยงคืน เตรียมกดวิชาที่ต้องการ พอเที่ยงคืนปุ๊บกดปั๊บก่อนที่เว็บจะล่ม เพื่อที่จะได้ตารางเรียนในฝันอย่างที่ตัวเองร่างไว้ ถ้าลงไม่ทันคนอื่นส่วนใหญ่ก็จะเหลือวิชาที่เรียนเช้ามากๆหรือไม่ก็เป็นวิชาที่อาจารย์โหดมากๆ สมัยที่เรียนส่วนใหญ่วิชาที่มีการสอนภาษาอังกฤษจะอยู่ในตารางเรียนช่วงเช้าตลอด จำได้ว่ามีอยู่ช่วงนึงเรียนแปดโมงเช้าทุกวัน แปดโมงมาเล = เจ็ดโมงประเทศไทย โอ้วววว เช้ามาก แล้วมีอีกวิชาที่เป็นคาบภาษาอังกฤษคาบเดียว มีสอนสัปดาห์ละครั้งตอนสองทุ่มถึงสี่ทุ่ม ต้องจัดการตารางชีวิตกันให้ดี

การแต่งกาย

UUM Dresscode

มหาวิทยาลัยไม่มีเครื่องแบบตายตัว หลักๆคือแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ในภาพคือตัวอย่างการแต่งกายในช่วงเวลาทำการ (ไปเรียน ไปสอบ เข้าห้องสมุด ติดต่อหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัย)

  • ผู้ชาย : เสื้อเชิ้ต แขนสั้นหรือยาวก็ได้ และผูกเน็คไท กางเกงสแล็คขายาว รองเท้าหุ้มส้น
  • ผู้หญิง : แต่งกายสุภาพเรียบร้อย ใส่รองเท้าหุ้มส้น
    • นักศึกษามุสลิมส่วนใหญ่จะใส่ชุดกูรงไปเลย เพราะง่ายดี แต่จะใส่เป็นเสื้อ+กางเกงก็ได้ และไม่ได้บังคับให้ใส่ผ้าคลุมฮิญาบ การคลุมฮิญาบสามารถทำได้ตามความสมัครใจของแต่ละคน
    • นักศึกษาที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่งตัวสุภาพเรียบร้อยทั่วไป ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือยาวก็ได้ กางเกงต้องเป็นกางเกงขายาว ถ้าเป็นกระโปรงต้องยาวเลยเข่าลงไป

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่อนุญาตให้ใส่กางเกงยีนส์และรองเท้าแตะในเวลาทำการ ส่วนนอกเวลาทำการก็สามารถแต่งชุดลำลองทั่วไปสบายๆได้ แต่ต้องไม่ใส่สั้นโชว์เนื้อโชว์หนังมากเกินไป

ภาษาที่ใช้

ภาษาที่ใช้ในคาบเรียนก็ขึ้นอยู่กับที่เราเลือก ถ้าเลือกระบบภาษาอังกฤษก็จะคุยกันด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมด คนที่เลือกภาษามลายูก็จะพูดกันด้วยภาษามลายู การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัยก็สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ ส่วนบรรยากาศนอกห้องเรียนส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้เจอกับนักศึกษาต่างชาติด้วยกันเองก็จะเป็นบรรยากาศที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร เช่น เวลาไปซื้อของตามร้านอาหารต่างๆ เวลาคุยกับเพื่อนนอกชั้นเรียน ถามว่าถ้าคุยภาษาอังกฤษกับแล้วเค้าเข้าใจมั้ย เค้าเข้าใจนะ แต่บางคนเค้าคงจะเขินๆไม่กล้าพูดและจะสะดวกใจในการพูดภาษามลายูมากกกว่า(ถ้าเลือกได้) ตอนแรกก็ไม่ได้ภาษามลายูเลย แต่พอได้รูมเมทเป็นคนมาเล เค้าก็ช่วยสอน เรียนรู้จากเพื่อนๆที่เรียนด้วยกันในคาบเรียน บวกกับดูละครบ้าง ทำให้พอจะสื่อสารเป็นภาษามลายูได้ เลยได้เอาไปใช้ในการต่อราคาสินค้าตอนซื้อของ แชทพิมพ์กันไปมาพอถูๆไถไปกันได้ มันก็สนุกดีเหมือนกัน ภาษามลายูก็มีภาษาถิ่นตามแต่ท้องที่เหมือนบ้านเรานี่ล่ะ ภาษาถิ่นกลันตันนี่จะพูดเหมือนกับพี่น้องใน3จังหวัดชายแดนภาคบ้านเราอย่างกับคนบ้านเดียวกันเลย คนมาจากต่างถิ่นก็จะมีสำเนียงการพูดต่างๆกัน อยู่ไปอยู่มาพอฟังคนพูดเยอะเริ่มแยกสำเนียงได้ว่าคนนี้มาจากรัฐไหน เคดะห์ กลันตัน ซาราวัค เคแอล ยะโฮร์ ก็จะมีสำเนียงต่างๆกันไป สนุกกันไปอีกแบบ

วันหยุด

ที่นี่จะเรียนวันอาทิตย์ – พฤหัสบดี  นะคะ ศุกร์-เสาร์ คือวันหยุด เป็นไปตามระเบียบของรัฐเคดะห์ค่ะ

หอพักนักศึกษา

เนื่องจากตัวมหาวิทยาลัยมีพื้นที่ที่กว้างขวางและตั้งอยู่ในที่ๆค่อนข้างห่างไกลจากชุมชน นักศึกษาจึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีหอพักในมหาวิทยาลัยทั้งหมด 15 หอ รองรับนักศึกษาประมาณ 20,000 คน หอพักทั้ง 15 แห่งได้แก่ MAS, TNB, Tradewinds, Petronas, GRATT, MISC, Sime Darby, BSN, TM, Proton, Yayasan Al-Bukhari, Bank Muamalat, Bank Rakyat, SME Bank,  และ Maybank ซึ่งหอพัก Bank Rakyat และหอพัก SME Bank ไม่ได้อยู่ในตัวมหาวิทยาลัยนะคะ หอพักทั้งสองนี้จะตั้งอยู่ที่ Bukit Kachi ซึ่งอยู่ห่างจากตัวมหาวิทยาลัยไป 1-2 กิโลเมตรค่ะ เป็นหอพักบนเขา

หลายๆคนอาจคุ้นหูกับชื่อหอพักเหล่านี้ ทั้งโปรตอนเอย อิออนเอย ปิโครนัสเอย ต้องบอกไว้เลยว่าหอพักเหล่านี้ตั้งชื่อตามบริษัท สถาบัน หรือองค์กรที่สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างหอพักเหล่านี้นั่นเองค่ะ (บางปีชื่อบางหออาจเปลี่ยนไปตามชื่อของผู้สนับสนุนงบประมาณในปีนั้นๆค่ะ)

นักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคนจะถูกลงทะเบียนให้มีที่พักในมหาวิทยาลัยแน่นอน แต่สำหรับนักศึกษาปริญญาโทและเอกนั้น ต้องลงทะเบียนจองค่ะ อยู่ในเกณฑ์ first come, first serve จองก่อน ได้ก่อน ถ้าที่พักเต็มต้องไปหาที่พักที่อื่นกันต่อไป แต่ส่วนใหญ่แล้วหอพักที่มีค่อนข้างเพียงพอต่อความต้องการของนักศึกษานะคะ

ในแต่ละหอพักจะแบ่งออกเป็นตึกบล็อก A ถึง H จะแยกโซนชัดเจนกันไปเลยว่าผู้ชายอยู่บล็อกไหน ผู้หญิงอยู่บล็อกไหน แต่ละหอจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาเป็นของตัวเอง ได้แก่ cafeteria ที่เป็นแหล่งรวมร้านอาหาร, ห้องแล็ปคอมพิวเตอร์, ร้านถ่ายเอกสาร, ร้านมินิมาร์ท, สนามกีฬา, ที่ซักรีด เป็นต้น  หอพักส่วนใหญ่จะมีห้องสำหรับนักศึกษาให้อยู่ห้องละ 2 คน บางหออาจมีให้อยู่ห้องละ 3 คน สำหรับนักศึกษาที่มีครอบครัวแล้วและพาครอบครัวมาด้วยก็สามารถไปลงทะเบียนจองห้องพักที่หอ Maybank ซึ่งเป็นหอพักแบบยูนิต ยูนิตนึงจะมีห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ สามารถอยู่รวมกันแบบครอบครัวได้ หอพักแต่ละประเภทก็จะมีราคาแตกต่างกันไป

ตอนเราเข้าไปวันแรกเค้าจัดปฐมนิเทศน์ที่หอTradewinds ด้วยความที่เป็นคนจำทิศจำทางไม่ดีเท่าไหร่ เลยงงมาก เดินหลงมั่วทิศไปหมด วันต่อๆก็ยังจำไม่ค่อยได้อยู่ดี เลยอาศัยจำเลขจำบล็อกห้องเอา การแบ่งหอว่าใครจะอยู่กับใคร เราเลือกเองไม่ได้นะ ทางมหาวิทยาลัยจะกำหนดให้เองว่าเราจะได้ไปอยู่หอไหน กับใคร ส่วนใหญ่เค้าจะแยกเด็กให้อยู่หอตามคณะที่เรียน อันนี้เราคิดว่าเพื่อเป็นความสะดวกสำหรับนักศึกษา เพราะบางครั้งเวลาเรียนเสร็จ มีงานกลุ่ม ต้องมีคุยงานกัน บางครั้งนัดคุยตอนกลางคืนหลังเลิกเรียน คนที่อยู่คณะเดียวกันอยู่หอบริเวณเดียวกันจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล หอพักที่ได้พักส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้กับตึกที่เราเรียนเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปเรียน เด็กชาติเดียวกันที่อยู่คณะเดียวกันก็จะได้อยู่ด้วยกัน (ข้อเสียถ้าคนไทยอยู่ห้องเดียวกันคือจะพูดกันแต่ภาษาไทย เราโชคดีได้รูมเมทคนกลันตันที่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่องเท่าไหร่ เลยได้เรียนรู้ภาษามลายูไปด้วยเลย) ในแต่ละหอก็จะมีกิจกรรมของหอมากน้อยแตกต่างกันไป บางหอมีเด็กกิจกรรมรวมตัวกันอยู่มากก็มีกิจกรรมเยอะมาก สมัยที่เรียนอยู่ได้อยู่หอพักโปรตอน โอ้โหววว เหมือนเป็นหอรวมดาวกิจกรรมมากๆ แทบจะประกาศเรียกกันทุกคืน แรกๆก็ไปนะปีนเขาบ้าง อะไรบ้าง หลังๆเริ่มขี้เกียจ เลยเข้าบ้างไม่เข้าบ้าง

หนึ่งในกิจกรรมที่เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับแต่ละหอก็คือการซ้อมหนีไฟ แต่ละครั้งจะไม่บอกว่าซ้อมวันไหนหรือหอไหน จะสุ่มทำวนๆกันไป แต่จะจัดเต็มแบบมากันแบบไม่ทันตั้งตัวเลย มีอยู่คืนนึงนั่งทำการบ้านดึก แอบได้ยินเสียงคนคุยกันที่สนามบาสข้างๆห้องเลยงงว่ามาทำอะไรกันดึกป่านนี้ พอมองปุ๊บเห็นเค้าจุดไฟกันอยู่ รูมเมทหันมาบอกเลยว่าคงจะซ้อมหนีไฟแน่ๆเลย เราเลยเตรียมตัวแต่งตัวกันทัน ต่อมาพักนึงอยู่ๆไฟก็ดับแล้วสัญญาณเตือนไฟดังขึ้น มาพร้อมกันควันไฟชุดใหญ่จัดเต็มมากๆ เด็กๆในหอตกใจกันสุด ออกมากันทั้งชุดนอนนั่นแหละ รีบมาก บางหอจัดควันแบบสมจริงมาก เด็กๆบางคนถึงขั้นขนคอมขนพาสปอร์ตวิ่งออกมากันเลยทีเดียว พอเด็กๆวิ่งออกมารวมตัวกันหมด ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาสาธิตวิธีการใช้ถังดับเพลิง แนะนำว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้จริงต้องทำอะไรกันบ้าง ประมาณนี้

ชีวิตความเป็นอยู่

ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทั้งมลายู จีน และอินเดีย ทำให้เราได้เห็นถึงความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม วันหยุดก็จะหยุดตามวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ อีกทั้งยังมีนักศึกษาต่างชาติมาจากหลายประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ ทำให้เราต้องค่อนข้างจะต้องปรับตัวเปิดใจกับสิ่งที่จะต้องเจอใหม่ๆ หลายๆคนอาจคิดว่าประเทศมาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเราคงจะไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก แต่จริงๆก็มีเรื่องให้ปรับตัวมากอยู่ ให้เราได้เรียนรู้และเปิดใจ โดยเฉพาะนักศึกษาที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม เพราะอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศมาเลเซีย วิถีชีวิตและวัฒนธรรมมันก็จะค่อนข้างแตกต่างกับบ้านเราที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติแน่นอน เลยอาจมีเรื่องให้ต้องปรับตัวมากหน่อย เช่น ต้องเรียนวิชาบังคับเกี่ยวกับหลักศาสนาอิสลาม (อันนี้ก็เหมือนกับที่เราเรียนในโรงเรียนในประเทศไทยที่มีบังคับให้เรียนพุทธศาสนา) การแต่งกายต้องสุภาพเรียบร้อย เป็นต้น ใครปรับตัวได้เร็วก็ดี ใครไม่เคยเจอสังคมที่วัฒนธรรมหลายหลายแบบนี้ก็อาจต้องปรับตัวกันนานหน่อย บางคนตัดสินใจลาออกหลังจากมาอยู่ไม่กี่วันไม่กี่เดือนก็มีเหมือนกัน

การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย

เนื่องจาก UUM เป็นมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างใหญ่ หลายๆคนเลยสงสัยว่าจำเป็นต้องมียานพาหนะส่วนตัวรึเปล่า เราขอยกตัวอย่างตัวเองเลยนะคะ สมัยที่เราเรียนตอนปีหนึ่งยังไม่ได้เอารถมอเตอร์ไซค์ไป เลยอาศัยเดินเอา เดินกันขยันขันแข็งมาก มันก็เหนื่อยใช้ได้เหมือนกันเพราะเป็นคนไม่ค่อยจะออกกำลังกายเท่าไหร่ ก่อนเข้าสัปดาห์เรียนก็ไปสำรวจตึกที่จะเรียนว่าอยู่ตรงไหนบ้าง มันก็จะมีบ้างบางวิชาที่ตึกเรียนมันไกลมาก แต่ถ้าไม่อยากเดิน ทางมหาวิทยาลัยก็มีบริการรถบัสแบ่งสาย A, B, C, D ตามหอพักที่เราอยู่ บัสแต่ละสายจะมาจอดตามหอต่างๆแล้วเวียนไปส่งตามอาคารเรียนในมหาวิทยาลัย ต้องเติม point  ในบัตรนักศึกษา แล้วตอนขึ้นก็ไปแตะบัตรเอา แต่รถบัสมันออกตามเวลา บางครั้งเวลาขึ้นมันต้องค่อนข้างจะแย่งกัน คนแน่นบ้างอะไรบ้าง เราชอบชิลๆมากกว่าเลยเลือกเดินซะส่วนใหญ่ บางอารมณ์ถ้าขี้เกียจเดิน ก็จะไปนั่งรถบัสเอา ส่วนนักศึกษาที่อยู่หอพักนอกมหาวิทยาลัยที่ Bukit Kachi ต้องอาศัยบัสมหาวิทยาลัยในการเดินทางแน่นอนค่ะ ไม่สามารถเดินเท้าได้แน่ๆ

ตอนปีสองเราเอามอเตอร์ไซค์เข้าไปใช้เพราะเริ่มขี้เกียจเดิน นักศึกษาบางคนก็เอารถยนต์มาใช้ ทั้งนี้ทั้งนั้น นักศึกษาที่จะเอายานพาหนะส่วนตัวมาใช้ต้องทำเรื่องขอสติ๊กเกอร์ของมหาวิทยาลัยเอามาแปะที่รถตัวเองด้วย ถ้าไม่มีจะโดนปรับ พอมีสติ๊กเกอร์แล้วก็อย่าลืมจอดรถให้ถูกที่ด้วยนะ ไม่งั้นค่าปรับจะตามมารวมอยู่ในค่าเทอมของเรานี่ล่ะ เราเองเคยโดนมาแล้วสองสามครั้ง จอดรถไม่ดูให้ดี T_T

ทุนการศึกษา

ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาไทยที่จะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ใครสนใจจะศึกษาต่อที่นี่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนเองทั้งหมดค่ะ

อาหารการกิน

อาหารการกินเป็นอาหารฮาลาลทั้งหมดค่ะ ทุกๆหอพักจะมี cafeteria เป็นของตัวเอง และมีศูนย์อาหารใหญ่ตรงที่เป็นจุดศูนย์กลางของมหาวิทยาลัย อาหารที่ขายก็จะมีทั้งข้าวราดแกง บริการตัวเอง อาหารตามสั่ง อาหารไทย ฝรั่ง อินเดีย จีน มาเล อาหรับ กระจายๆกันไป บางอาคารเรียนก็อาจมีร้านอาหารบ้าง แต่ถ้าตึกไหนไม่มี ก็ไปหากินได้ที่ตึกข้างๆ ไม่ไกล จะมีที่ให้กินแน่นอน บางหอมีร้านอาหารคนไทยไปเปิดด้วย ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ามีทั้งหมดกี่แห่ง แต่ร้านคนไทยนี่ขายดีตลอด ต้องเข้าคิวยาวตลอด

มัสยิด/การปฏิบัติศาสนกิจ

แต่ละตึกเรียนจะมีสุเหร่าสำหรับนักศึกษา/บุคลากรแยกส่วนชาย/หญิงไว้ใช้ละหมาด ตึกไหนไม่มีก็สามารถไปละหมาดตึกอื่นในบริเวณใกล้เคียง จริงๆตามหอพักก็มีสุเหร่าต่างๆสำหรับบุคคลภายนอกไปละหมาดขณะเดินทางอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ นอกจากนี้ในตัวมหาวิทยาลัยมีมัสยิด Sultan Badlishah ซึ่งเป็นมัสยิดใหญ่ เป็นศูนย์รวมการปฏิบัติศาสนกิจ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับอิสลามศึกษา

นอกจากมัสยิด Sultan Badlishah ซึ่งอยู่ในตัวมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีมัสยิดอีกแห่งคือมัสยิด Bukit Kachi ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณหอพัก Bank Rakyat และ SME Bank (หอพักทั้ง2นี้ไม่ได้อยู่ในตัวมหาวิทยาลัย แต่อยู่ห่างจากตัวมหาวิทยาลัย1-2 ก.ม.) อีกแห่งด้วย

นักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ที่ UUM

เราเป็นนักศึกษาไทยรุ่นที่13 ตอนนี้ไม่แน่ใจว่า ณ ปัจจุบัน นักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ที่ UUM เป็นรุ่นที่เท่าไหร่ น่าจะผ่านมานานหลายรุ่นเพราะเค้านับรุ่นใหม่กันทุกเทอม แต่มั่นใจว่าครอบครัว TSA UUM นั้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งใครมีอะไรสงสัยสามารถเข้าไปสอบถามได้ที่ TSA UUM Facebook Page ค่ะ

บรรยากาศมหาวิทยาลัย

This slideshow requires JavaScript.

ถือได้ว่า UUM เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศที่ดีมากในการศึกษา เนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ร่มรื่นไปด้วยเขตพื้นที่ป่าไม้ เหมือนมหาวิทยาลัยในป่า มีความเป็นธรรมชาติมาก หลังจากเคร่งเครียดกับบรรยากาศในห้องเรียนแล้ว ทางมหาวิทยาลัยมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจของนักศึกษาหลายๆอย่าง เช่น สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิก (แยกวัน/เวลาสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย), ฟิตเนสออกกำลังกาย, สนามยิงธนู, สนามกีฬาในร่ม (แบดมินตัน, ตะกร้อ, ฟุตซอล, สควอช, ปิงปอง), สนามกีฬากลางแจ้ง (เทนนิส, บาสเก็ตบอล, ฟุตบอล, เปตอง), ห้องซาวน่า, ห้องแอโรบิค, กิจกรรมพายเรือคายัค, สนามโกคาร์ท, สนามกอล์ฟ, ขี่ม้า, ปั่นจักรยาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้กระจายอยู่ตามจุดต่างๆของมหาวิทยาลัย เรียกได้ว่ามีกิจกรรมให้ทำหลากหลายมากๆในตัวมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องออกไปไหน

ตอนที่เรียนเราเรียนวิชาเลือกกอล์ฟด้วย กว่าจะหวดโดนลูกก็ใช้เวลาไปหลาย ตลกมาก เพื่อนเราเลือกเรียนพาราชูตเตอร์ มีคนนึงน้ำหนักไม่ถึงเลยอดบิน ว่างๆหลังจากเลิกเรียนก็ไปให้อาหารกวางบ้าง ไปออกกำลังกายที่ complex บ้าง กิจกรรมบางอย่างอาจเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเช่นโกคาร์ท แต่ก็จะเป็นเรทราคานักศึกษา ถ้าเป็นบุคคลภายนอกก็จะเป็นอีกเรทนึง

ปัจจุบัน UUM พัฒนาไปอีก (ดูจากเว็บไซต์) มีทั้งสระเป็ด ฟาร์มนกกระจอกเทศ ตึกเรียนใหม่ๆ เรียกได้ว่าหลังจากเราเรียนจบนี่ทุกอย่างพัฒนาขึ้นมากๆ มีกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจให้ทำเพิ่มมากขึ้น หลากหลายขึ้น

UUM กับการท่องเที่ยว

UUM ได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ซึ่งบุคคลภายนอกและนักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมและใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆได้ ภายในตัวมหาวิทยาลัยได้รับการพัฒนาสถานที่ต่างๆเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเพื่อตอบสนองความต้องการด้านนันทนาการของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ได้แก่ พื้นที่ปิกนิก สนามกอล์ฟเก้าหลุม สนามโกคาร์ท สนามยิงปืนและยิงธนู สถานที่ขี่ม้าและอื่นๆอีกมากมาย ภายในตัวมหาวิทยาลัยมี University Inn เป็นโรงแรมที่พักสำหรับบุคคลภายนอก นอกจากนี้ห่างจากตัวมหาวิทยาลัยไม่ไกล ก็มี EDC Hotel & Resort เป็นโรงแรมใหญ่กว่า University Inn นักศึกษาการโรงแรมจะมีบางวิชาที่จะต้องมาฝึกงานที่นี่ นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจสามารถเข้าพักที่นี่ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ UUM ยังมี Edu-Tourism Package ซึ่งเป็นแพ็คเก็จทัวร์มหาวิทยาลัย มีทั้งแบบ 2 วัน 1 คืน และแบบวันเดียวทั้งวัน ใครสนใจแพ็คเก็จนี้ไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Edu-Tourism Package

นักศึกษาที่จะไปเรียนส่วนใหญ่ก็ไปเยี่ยมชมตัวมหาวิทยาลัยก่อนตัดสินใจสมัครเข้าเรียน ไปกันเองเลยแบบไม่ต้องซื้อแพ็คเก็จทัวร์ของมหาวิทยาลัยค่ะ บางคนมีรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่าพาแนะนำมหาวิทยาลัย บางครอบครัวไปลุยกันเองก็มี แล้วแต่สะดวกเลยค่ะ เพื่อเป็นอีกหนึ่งข้อมูลในการตัดสินใจเข้าสมัครเรียนที่นี่

 *** ชื่อหอพักแต่ละแห่งอาจไม่ตรงกับข้อมูลสถานที่จริงนะคะ เพราะชื่อหออาจเปลี่ยนไปตามชื่อองค์กรที่สนับสนุนงบประมาณ อันนี้คืออัพเดทล่าสุดมาจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัย ถ้ามีข้อผิดพลาดตรงไหน ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ใครมีอะไรสงสัยสอบถามเพิ่มเติมในคอมเมนท์ได้เลยนะคะ เผื่อมีคนอื่นสงสัยสิ่งเดียวกันจะได้เห็นรวมกันในที่นี้ไปเลยค่ะ

Picture Credit from www.uum.edu.my

 

4 replies

  1. เราสามารถเดินทางโดยรถบัสเข้าได้มั้ยคะ จากฝั่งไทย ด่านนอก สะเดาอะคะ

    Like

Leave a comment